วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การทำน้ำตาลมะพร้าว










ความเป็นมา


ตำบลคลองเขินอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสงครามพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นสวนมะพร้าวประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและมีรายได้จากการทำหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นมะพร้าวไม่ว่าจะเป็นการเก็บผลผลิตขาย การทำมะพร้าวขาวส่งโรงงานผลิตน้ำกะทิกล่อง และการทำน้ำตาลมะพร้าว การทำน้ำตาลมะพร้าวจะต้องมีขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพซึ่งทุกขั้นตอน ล้วนแต่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำจะต้องมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนที่ถูกต้องอันเป็นความรู้ที่สั่งสมกันมา แต่บรรพบุรุษสืบทอดให้แก่รุ่นลูกหลาน





นิยามศัพท์




งวงตาล หมายถึง จั่นมะพร้าว ช่ออ่อนของดอกมะพร้าว



ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

ความหมายของภูมิปัญญาท้องถิ่น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ(2535 : 208) ได้ให้คำจำกัดความของภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาชาวบ้านว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดได้เอง ที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นสติปัญญา เป็นองค์ความรู้ทั้งหมดของชาวบ้าน ทั้งกว้าง ทั้งลึก ที่ชาวบ้านคิดเอง ทำเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่ แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตได้ในท้องถิ่นอย่างสมสมัย
ประเวศ วะสี(2536 : 21-22) กล่าวว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น สะสมขึ้นมาจากประสบการณ์ชีวิต สังคม และในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และสืบทอดกันมาเป็นวัฒนธรรมโดยมีลักษณะสำคัญคือ1)มีวัฒนธรรมเป็นฐานไม่ใช่วิทยาศาสตร์2)มีบูรณาการสูง3)มีความเชื่อมโยงไปสู่นามธรรมที่ลึกซึ้งสูงส่ง และ 4) เน้นความสำคัญของจริยธรรมมากกว่าวัตถุธรรม

ขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าว
1.การทำความสะอาดงวงตาล(จั่นมะพร้าว)และการนวดงวงตาลโดยการแกะมดแมลงที่เกาะงวงตาลออกและรูดดอกออกไป จะทำให้งวงตาลสะอาด ปราศจากแมลงที่จะทำให้น้ำตาลขุ่นเหนียวได้
2. การนวดงวงตาล ใช้น้ำตาลใสที่ไหลออกจากงวงหลังปาดมาลูบให้ทั่วงวง เพื่อให้น้ำตาลช่วยรัดงวงให้นิ่ม หรืออาจใช้มือนวดเบา ๆ ให้ทั่วจากโคนไปปลายงวง จะทำให้ได้น้ำตาลที่ใสสะอาด
3. การล้างทำความสะอาดกระบอกรองน้ำตาลใส เพื่อให้กระบอกสะอาดไม่มีสิ่งเจือปน

4. การปาดงวงตาล ตอนบ่าย – เย็น โดยการปาดบาง ๆ แล้วแขวนกระบอก เพื่อรองรับน้ำตาลใส
5. การเก็บน้ำตาลใส จะเก็บในช่วงเก้าโมงเช้า จะทำให้ได้น้ำตาลคุณภาพดี เพราะถ้าเก็บช้าน้ำตาลอาจเสียได้

6. การเคี่ยวตาล นำน้ำตาลใส กรองด้วยผ้าขาวบาง เวลาเคี่ยวต้องช้อนฟองออก เมื่อน้ำตาลเดือดฟองยุบจนไม่เหลือฟอง ยกลงแล้วใช้เหล็กกระทุ้งน้ำตาล จะได้น้ำตาลสีเหลืองนวลสวย

7. หยอดน้ำตาลเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือเป็นปึกตามแต่ขนาดหรือรูปแบบที่ต้องการ ขณะที่น้ำตาลยังร้อน ๆ เมื่อน้ำตาลเย็นจะได้รูปตามที่หยอด
8. เมื่อน้ำตาลเย็นและแห้ง เก็บบรรจุลงถุงพลาสติก ซีนและบรรจุกล่องพร้อมจำหน่าย
ความสำเร็จของภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าว
การทำน้ำตาลมะพร้าวมีขั้นตอนการผลิตที่ใช้เวลานาน และทุกขั้นตอนจะต้องสะอาด ไม่ใส่สารกันบูด โดยจะใช้ไม้พะยอมใส่ในกระบอกรับน้ำตาลกันบูดแบบธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และทุกขั้นตอนล้วนเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งสิ้น น้ำตาลมะพร้าว ถ้าจะให้สีสวย ไม่เหลืองเข้ม รสชาติหวานหอม ต้องดูแลน้ำตาลให้ดี ตั้งแต่จั่นมะพร้าว กระบอกรองน้ำตาลใส ไปจนถึงการเคี่ยวน้ำตาล ซึ่งจะต้องใช้ความพิถีพิถันเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำทุกขั้นตอนที่ถูกต้อง อันเป็นความรู้ที่สั่งสมกันมาแต่บรรพบุรุษ สืบทอดให้แก่รุ่นลูกหลาน ซึ่งหากลูกหลานทำได้ ก็ถือว่าสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป
ปัญหาอุปสรรค ความยากลำบาก
1. ขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าวยุ่งยาก ต้องใช้ความชำนาญ และใช้เวลาในการทำมาก
2. ต้นมะพร้าวมีลำต้นสูง ยากและเสี่ยงต่อการขึ้นไปปาดและเก็บน้ำตาลใส
3. ลูกหลานส่วนใหญ่ไม่มีความอดทน ไม่ให้ความสนใจในอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว เนื่องจากเหนื่อยและยุ่งยาก
4. ต้นทุนการผลิตสูง เช่น ไม้ฟืนราคาแพง
5. ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะคนสูงอายุ คนรุ่นใหม่ออกไปศึกษาและทำงานนอกพื้นที่
6. ไม่มีคนขึ้นตาล คนเคี่ยวตาลมีน้อย ค่าแรงต่ำ
7. ชาวสวนมะพร้าวส่วนใหญ่จะขายน้ำตาลใส เพื่อทำน้ำตาลมะพร้าวพร้อมดื่ม เพราะขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากเหมือนกับการทำน้ำตาลมะพร้าว ทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการทำน้ำตาลมะพร้าว
8. ความทันสมัยของเทคโนโลยี
9. ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง
10. คนวัยแรงงานนิยมทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม
11. คนรุ่นใหม่ออกไปศึกษาและทำงานนอกพื้นที่
12. โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง ทำให้ผลผลิตตกต่ำ
13. มีกระรอกทำลายผลผลิต เช่น กัดกินจั่นมะพร้าว กระบอกรองน้ำตาล








































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น